หลังจากอ่านเรื่อง The State of UX in 2016 ของ Fabricio Teixeira ที่ Medium.com ที่เขาเล่าเรื่องเว็บ uxdesign.cc คาดการณ์จาก 384 ลิ้งค์บทความที่ส่งถึงผู้อ่านตลอดทั้งปี พวกเขาเห็นความเป็นไปได้ของปี 2016 ในอะไรไหนบ้างเกี่ยวกับวงการ User Experience Design? ผมก็พบว่ามันน่าสนใจ
อ่านแล้วอดใจไม่ได้เลยอยากสรุปรวบยอดความคิดเป็นภาษาของตัวเองอีกที ดังนั้นถึงแม้เนื้อเรื่องจะตรงกันแต่แก่นความคิดที่สรุปอาจแตกต่างกันไปบ้าง แล้วแต่ผู้อ่านจะเลือกเชื่อผมไปเลยหรือไม่ก็ลองไปอ่านที่บทความดูอีกทีก็ได้นะครับเผื่อจะได้มุมมองที่เหมือนกับทางโน้นมากกว่า หรือแตกต่างกันออกไป และสามารถมาคุยกันได้ด้วย
มีอยู่หลายทิศทางทีเดียวที่น่าสนใจ เกี่ยวกับเทรนด์ในวงการ UX ในปีที่กำลังจะมาถึงนี้
1. คนเริ่มเข้าใจแล้วว่าปรับ UX ไม่ใช่ปรับ UI ให้สวยขึ้น
ไม่ใช่ว่าเราจะเลิกดีไซน์เว็บให้สวยกันแล้ว แต่เทรนด์อาชีพของคนทำ UX กับ UI จะมีแนวโน้มแยกกลายเป็นคนละคน หรือไม่ก็เป็นคนเดียวกันแต่ทำหน้าที่นี้ต่างเวลาต่างสถานที่กัน มีเหตุผลประกอบเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในปีที่แล้วโดยรวม ดังนี้
- เทคโนโลยีทำให้การดีไซน์ Web Application แสดงหน้าตาเหมือน Mobile Application ได้แล้วทั้งในแง่ความสวยงาม (Flat Design มีส่วนมาก) ความนิ่งของดีไซน์ (Responsive มีส่วนมาก) และความเร็วในการแสดงผล (Node หรือ Server-side Ajax มีส่วนมากที่ทำให้มันเป็นไปได้)
- เรามี Templates แจกฟรีและไลบรารีพร้อมใช้ที่มีลูกเล่นหลากหลายเพียงพอมากแล้วในปีที่ผ่านมา ปีนี้เป็นปีแห่งการใคร่ครวญและจับมาจัดวางให้ลงตัว คำถามในการดีไซน์ปีนี้จึงกำลังจะเปลี่ยนจาก “ตรงนี้ควรวางเครื่องมือ A หรือ B?” เป็น “ตรงนี้ควรใช้เครื่องมือ C ดีไซน์ไหนดี?”
- ยุคของ Mobile App ที่ทำงานได้อย่างเดียวกำลังจะจบลง เพราะระบบแจ้งเตือน (Notification) ที่อิงอยู่กับตัวระบบหลักๆ เลยไม่ว่าจะเป็น Google Android (มี Now on Tap), Google Chrome (มี Notification นอกจอแอพได้แล้ว), iOS หรือแม้แต่ Facebook เองก็ทำได้สมบูรณ์แบบหมดแล้ว เราจะเห็นคนใช้หนึ่งแอพเพื่อข้อมูลหนึ่งชิ้นน้อยลง
- ส่วนติดต่อผู้ใช้ (UI หรือ User Interface) จะไม่ได้มีแค่ “หน้าจอ” แล้ว สั่งงานด้วยเสียงกำลังจะเป็นเทรนด์ สั่งงานด้วยภาษากายกำลังจะมา ปีนี้จะเป็นปีแห่งการพัฒนาการติดต่อกับผู้ใช้ด้วยวิธีกลุ่มนี้แทนเพราะแบบจอถึงจุดสูงสุดของมันอีกครั้งแล้ว
- HUD (Head-up Display) มาแน่ๆ ปีหน้าน่าจะเป็นปีแห่ง J.A.R.V.I.S เพราะ Oculus Rift เวอร์ชั่นขายเปิดตัวแล้ว ส่วนรถหลายยี่ห้อก็เริ่มทำ HUD กันจริงจังบนกระจกหน้ารถแล้ว น่าสนุกจริงๆ
ดังนั้น ปีหน้าเราจะได้เห็น
- คนทำ UI จะวุ่นกับการคัดดีไซน์ที่ไม่เวิร์คทิ้งไป และเราจะเห็นเขาต้องรีบลองเล่น Interface ใหม่ๆ เข้ามาเสริมเพราะลูกค้าเริ่มอยากได้
- ขณะนั้นเองที่คนทำ UI ก็จะหวังให้มีอีกคนหนึ่งมาช่วยจัดแจงให้ว่าตอนจะไปพรีเซนต์นั้นเราน่าจะเอามุกใหม่ๆ อะไรไปเสนอลูกค้าดี และมันช่วยให้ดีเด่นขึ้นยังไง คนๆ นั้นอาจเป็น Marketer หรือไม่ก็อาจจะเป็น User Experience Designer
2. Prototypes! Prototypes! Prototypes!
ปีนี้จะเป็นปีแห่ง Lean UX, Design Sprint หรือ ฯลฯ สุดแท้แต่จะเรียกกัน และนั่นหมายความว่าทุกสิ้นสัปดาห์ ต้องมีอะไรกดๆ ขยับๆ ได้ไปให้เจ้านายหรือทีมดู ไม่งั้นจะดูเหมือนทำงานน้อย
นั่นเป็นเพราะ
- 2015 เป็นปีที่ Prototyping Tools เกิดกระหน่ำ มีให้เล่นให้ลองตัวใหม่ได้แทบจะทุกเดือน
- และมีสัญญาณที่สำคัญมากคือการมาถึงของ Prototyping Tool ของอะโดบี รุ่นใหญ่แห่งวงการดีไซน์ที่เอา Adobe Comet ออกมา แสดงตนชัดเจนว่าตลาดนี้ทิศทางดี และมีดีมานด์อยู่จริงๆ
ดังนั้นปีนี้จึงน่าจะเกิด 3 อย่างคือ
- จะเป็นปีที่คนทำงาน UI กับหน้าจอทุกคนอย่างน้อยควรทำ Prototype บน Prototyping Tool ยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่งเป็น
- และที่น่ากลัวคือ Prototyping Tools ที่เมื่อกี้ว่ามีอยู่เยอะๆ นั้น บางตัวจะหยุดพัฒนาหรือหดหายไป นั่นแปลว่าถ้าเลือกตัวเดียวแล้วเลือกผิดตัว โอกาสช้ำใจสูงมาก แนะนำให้ดูตัวที่ Community ฝรั่งเยอะ… ย้ำว่าฝรั่งนะครับ (อันนี้ผมคิดเอง เพราะฝรั่งน้อยทีไรสุดท้ายไปทุกที ha-ha)
- เมื่อการทำ Prototype นั้นง่ายขึ้นมากเพราะเครื่องมือพวกนี้แล้ว ทีมจะเริ่มมีเวลาคิดมากขึ้น บทบาทของการคิดในมุมประสบการณ์ผู้ใช้งานจะเริ่มถูกเอามาถกกันมากขึ้นในวงทีมดีไซน์ ไม่ว่าเราจะมี UX’ers อยู่ในทีมหรือไม่ก็ตาม
3. Contextual Button เหล้าเก่าในขวดใหม่
หลังจากเรากด Play ปุ่มตรงนั้นจะกลายเป็นปุ่ม Pause นี่คือตัวอย่างสากลที่สุดของ Contextual Button หรือ ปุ่มตามบริบท (งงกว่าเดิมมั้ย??!?!) ส่วนสาเหตุที่จะทำให้สิ่งนี้กลับมามีบทบาทมากเหมือน “เมนูเม้าส์คลิกขวา” สมัยก่อนนั่นก็เป็นเพราะว่า
- หน้าจอส่วนใหญ่ที่คนจะใช้งานในปีนี้ ถึงจะเป็นมือถือหน้าจอใหญ่ แต่ใหญ่แค่ไหนก็ไม่สามารถแสดงข้อมูลจำนวนมากได้ง่ายๆ
ดังนั้นในปีที่จะมาถึงนี้
- การเลือกข้อมูลมาขึ้นจะมีบทบาทสำคัญมากขึ้นอย่างยิ่งยวด งานด้าน Information Architecture จะถูกรื้อมาใช้กันใหม่ เพื่อมาเป็นตัวช่วยตัดสินใจว่าจะแสดงอะไรก่อน อะไรหลัง อะไรเป็นตัวเลข อะไรเป็นไอค่อน อะไรเป็นตัวหนังสือ — ความพอดีคือจุดแบ่งที่สำคัญมาก ซึ่งอาจพบได้จากการทำ Usability Test หรือ Assessment Test
- นักออกแบบ UI ต้องพากันคำนึงว่าจะต้องระวัง ไม่สร้างสภาวะที่ “ทุกอย่างในจอสำคัญไปหมด” ขึ้นมา
- เมนูนำทาง (Navigation) ปีนี้จะมีการทดลองครั้งใหญ่ และผมเชื่อว่าบทบาทของมันจะ Lean มากขึ้น ไม่อ้วนเผละเพราะบริโภคจังก์ฟู้ดอย่าง Hamburger Menu มากเกินไปเหมือนทุกวันนี้
- คำสั่งโผล่ตอนที่ต้องการได้ถูกที่ถูกเวลา เช่น หลังได้รับของค่อยมีเมลมาให้เรทคนมาส่งของว่าบริการได้ดีหรือไม่ จะเป็นเทรนด์ที่พบเห็นได้มากขึ้น และสร้างสรรค์ได้น่ารักน่าสนใจมากขึ้น — งานศึกษา Users Journey ล้วนๆ ครับ ใครแม่นกว่า ใครอ่าน Analytics ด้านพฤติกรรมได้ละเอียดกว่า จะมีงานสนุกๆ ให้ทำเพิ่มขึ้น
- ถ้าใครเป็นคนวาง sitemap ปีนี้เป็นต้นไปเราจะเห็นไซต์แมพในทรงสูงมากกว่าทรงกว้าง คือจะเป็นหน้าวิธีทำเรียงลึกลงไปทีละขั้นตอนๆ แทนการทำอะไรให้เสร็จในหน้าเดียว
4. UX จะกลายเป็นเรื่อง Know-how ของแต่ละบริษัท
มีคนจำนวนมากอยากเอาคำว่า UX ไปติดหน้าอกของตัวเองเพียงเพราะเชื่อว่ามันเป็นอาชีพที่น่าทำ แต่ผมอยากจะเสนออีกแนวคิดหนึ่งว่าถ้าจริงๆ แล้ว UX คือเรื่องของจิตวิทยาเฉพาะลูกค้าของเราเท่านั้น การติดชื่อว่าเป็น UX Designer โดยไม่มีสังกัดหรือบริษัทอยู่หรือทำงานให้นั้นแทบไม่ได้บ่งบอกว่าเรารู้อะไรเลย
ยิ่งแต่ละปีผ่านไปเรายิ่งมีอุปกรณ์ที่ทำให้แต่ละบริษัทเห็นพฤติกรรมของลูกค้าตัวเองได้ง่ายขึ้นเต็มไปหมดเลย การทดสอบ A/B Testing บนโลกออนไลน์ก็แทบไม่เหลือคำว่ายากให้ไปขู่ลูกค้าแล้ว และที่สำคัญ คอร์สสอน Lean UX เดี๋ยวนี้นี่มีเยอะพอๆ กับติวเตอร์สอบแกตแพต… เหลืออะไรให้เราคุยว่าเราเป็น UX Designer มือปืนรับจ้างได้อีก? แทบไม่มีครับถ้าทุกคนรู้ว่าเขาจะเติมตัวเองให้เต็มได้อย่างไร
แต่ User Experience Development จะกลายเป็นเรื่องที่ต้องระดมคนจากทุกแผนกมาเปิดห้องประชุมคุยกัน แต่ไม่ได้มารายงานตัวเลขการเงิน มารายงานว่าแผนกนั้นแผนกนี้ “Users เกิดปัญหาเรื่องอะไรบ้าง” แล้วเราจะมาหาทางแก้มันให้ดีขึ้นได้อย่างไร — อันนี้ Service Design ดีๆ นี่เอง
ดังนั้นพ่อหมอขอทำนายว่า
- UX Designer ต้นปีจะถูกรับเข้าทำงาน และพอรับเข้าไปคนหนึ่งและทำเป็น แล้วบริษัทนั้นรู้วิธีทำ Lean/Agile UX และจัดชั่วโมงทำได้ เขาอาจไม่ต้องใช้ UX Designer คนถัดไปแล้ว
- แต่ถ้าตรงกันข้าม บริษัทรวมทีมไม่ติด เขามีแนวโน้มจะจ้าง UX’ers สาย consult แทนเพื่อมารวมทีมให้ ส่วนรับประจำ? เขาจะไม่แน่ใจอยู่ดีเพราะยังไม่รู้ว่าคนพวกนี้จ้างมาช่วยอะไร (ha-ha)
- ปีนี้ UX’ers จำนวนมากในเมืองนอกจะเปลี่ยนไปเป็นสายอาชีพใหม่ในองค์กรได้ส่วนหนึ่ง เพราะงานพัฒนาอะไรสักอย่างให้สอดคล้องไปกับประสบการณ์ผู้ใช้นั้นจริงๆ แล้วแทรกซึมได้อยู่ในทุกเนื้องาน ปีนี้เราจะเจอชื่ออาชีพใหม่ๆ อย่างเช่น
- Content Strategists ที่เป็นคนออกแบบและวางหมากแต่ละเนื้อหาที่จะนำไปยิงในสื่อโซเชียลให้แยบยล งดงาม และเกิดเป็นคาแรคเตอร์สินค้าหรือแบรนด์ในระยะยาว
- UX Researchers จะยังอยู่แต่จะแสดงตัวตนชัดเจนขึ้น เป็น Outsourcing หรือประจำบริษัทได้ เพราะงานพบปะสัมภาษณ์ผู้ใช้นั้นเป็นงานเดียวในสาย UX ที่ผมเชื่อว่าไม่มีอาชีพไหนมาทำแทนได้ดีเท่า
- และ Product Usability Designers หรือ Interaction Designers ที่จะลดสเกลตัวเองลงมาเหลือแค่การพัฒนาฟังก์ชั่นเฉพาะงานในขอบเขตของตัวเอง ฯลฯ
5. เป็น Startups เขียนบล็อกสร้างแบรนด์ เป็นภาคบังคับละ
อันนี้ตลกดีเพราะไม่รู้ทำไมทุกคนถึงทำตัวเหมือนๆ กัน ปีที่แล้วเป็นปีที่
- หน้าบล็อกของ Startups ทำหน้าที่อยู่สองแบบ แบบที่หนึ่งคือมันจะถูกแชร์ในวันที่บริษัทปิดตัวลง มักเต็มไปด้วยคำร่ำลาซึ้งๆ หรือบ๊ายบายประมาณว่าถูกซื้อไปแล้ว แงๆ เดี๋ยวเจอกันใหม่ อีกแบบคือพูดถึงความสำเร็จของตัวเอง… แบบหลังนี่ทั้งไทยทั้งเทศเลยครับอย่างน้อยต้องมีไว้สักหน้า หลายๆ ที่นิยมใช้ Medium.com เขียนกัน คงสะดวกดีและเจอฝรั่ง (VC) ได้ง่าย คิดว่าอย่างนั้น
- และปีที่แล้วเป็นปีที่บทความใน Medium.com ถูกลอกแก้แปะปะกันมากเป็นประวัติการณ์ — ชัดเจนมาก ว่ามีเดียมกำลังกลายเป็นสนามทดลองด้านคอนเทนต์แห่งใหม่ ตั้งแต่หมวกขาวจริยธรรมดี ไปจนถึงหมวกดำทำคลิกเบท (clickbait) สนุกจริงๆ
- และผมแอบเชื่อว่าการที่ Twitter กำลังจะขยายเป็น 10,000 ตัวอักษรนั้นมีนัยสำคัญบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับมีเดียม เจ้าของเขาเป็น Co-founder กัน #เดามั่วไม่เดาละ
- คีย์เวิร์ดคำว่า User Experience เป็นคำหนึ่งที่ใส่ไว้ในบทความไหน ก็เพิ่มพลังน่าศรัทธาให้กับสตาร์ทอัพสรายไหนรายนั้นได้
ดังนั้นผมคิดว่าปีนี้
- ยิ่งเราอ่านบทความที่มีแท็กคำว่า UX มากไปเท่าไร เราก็จะยิ่งไม่รู้อะไรเลย เพราะมันจะซ้ำๆ กัน สู้การอ่าน textbook การไป workshop ไม่ก็ลองทำหรือลองหางานจริงๆ แต่สเกลเล็กๆ ทำดูอาจจะได้ความรู้ดีกว่าครับ
- การอ่าน infographic และสถิติของแต่ละอุตสาหกรรม ในมุมที่เกี่ยวกับพฤติกรรมลูกค้าของเขาต่างหากที่จะทำให้เราเรียนรู้เรื่อง UX ได้ดีและสนุกสนานกว่าเยอะเลย
- และเชื่อว่าปีนี้บล็อก UX ต่างๆ จะพูดถึง Use Cases กับพฤติกรรมของคนมากขึ้น มากกว่าการถกว่าอะไรควรอยู่ซ้ายหรืออยู่ขวาเหมือนปีที่ผ่านมา
6. Content Strategy สนามใหม่ของ UX
ถ้าสายวิทย์ฯ มี Data Scientists เป็นอาชีพที่เซ็กซี่ที่สุดของตอนนี้ ฝั่งสายศิลป์-จิตวิทยาอย่างเราก็จะมี Content Strategist เป็นพระเอกประมาณกัน
ใครเรียงข้อมูลได้อ่านง่าย, make sense (อ่านรู้เรื่อง) กว่ากัน กำลังจะกลับมามีงานทำอีกครั้งหนึ่ง เราคิดว่าปีนี้จะเป็นปีของ Information Architectures
บทความของคุณ Fabricio Teixeira ที่อ่านอยู่อันนี้แหละครับให้เหตุผลไว้น่าฟัง ซึ่งตอนแรกผมคิดไม่ถึงนะ เขาบอกว่าลองคิดดูว่าถ้าสินค้าแค่ตัวเดียวของหนึ่งแบรนด์มีทั้งหน้าเว็บ ไมโครไซต์ หน้าโมบายล์บนมือถือ หน้าเฟซบุ๊คเพจ บล็อก และหน้า ฯลฯ ของมันเองอย่างละหนึ่งหน้า แล้วมีการอัพเดทเล็กๆ น้อยๆ ทุกวัน การทำให้เนื้อหาทั้งหมดสอดคล้องกันแทบเป็นไปไม่ได้ถ้าไม่มีคนวางแผนไว้ดีๆ ตั้งแต่จะยิงออกตัวไหน ยาวแค่ไหน ยิงเมื่อไร ฯลฯ
ตำแหน่งเจ้าหน้าที่กลยุทธ์บทความชำนาญการ (อี๋) หรือ Content Strategist นั้นผมว่ากลายพันธุ์มาจากก๊อปปี้ไรเตอร์ฝ่ายมาร์เก็ตติ้งที่รวมร่างเข้ากับ Social Media Specialist (ใช้โซเชียลเป็น) ไปรวมร่างกับมีเดียแพลนเนอร์ แล้วตบท้ายด้วยความรู้ UX เข้าไปอีก ปีนี้น่าจะเป็นปีทองของอาชีพนี้ หรือไม่ก็จะกลายเป็นชื่อ Career Path คลาสทูของ Social Media Specialists ไปหากพัฒนาได้ถึงขั้น ก็ขอให้โชคดีเลือกใช้ชื่อตำแหน่งกันตามความสามารถที่มีนะครับ
อีกสองข้อเรื่อง Smart Watch กับ Slack ตามบทความนั้นผมขอไม่กล่าวถึงเพราะค่อนข้างไกลจากเรื่องภาพรวมของ UX ไปแล้ว แต่ก็เป็นมุมมองที่น่าสนใจดีว่าสองหัวข้อนี้มีจุดขายที่ดีและต้องแก้ไขกันไปอย่างไรบ้าง ส่วนบทสรุปในข้อ 9. นั้นน่าสนใจพอผมคิดถึงปัญหาของงานดีไซน์ในเมืองไทย
9. ในไทย ดีไซน์ทำไมและเพื่อใคร ยังจะเป็นปัญหาเดิมๆ
“ทำเว็บใหม่ตามเทรนด์และเทคโนโลยีแล้ว แต่ยอดขายและทุกๆ อย่างก็ไม่ต่างกันมากนัก”
แม้เรามีเทคนิคในการทำเว็บได้เต็มไปหมด แต่เป็นไปได้มากว่าสุดท้ายฝั่ง Business จะยังคงได้ข้อสรุปคล้ายๆ อย่างนี้ นั่นเพราะเราจะไม่มีวันแก้ปัญหาได้ถ้ายังคงไม่รู้ว่าอะไรคือปัญหาที่แท้จริง ตกลงเรามีปัญหาที่ Infrastructure ที่ UI หรือว่าที่ UX?
ถ้าการทำ Prototyping สมัยนี้ไม่ยากแล้ว ปีนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่สุดของแต่ละบริษัทที่จะจัดตั้ง Design Sprint ขึ้นในองค์กร สร้าง ดัด แปลง และทดสอบทุกทฤษฎีที่เราคิดว่าเป็นปัญหาแล้วปรับใช้เฉพาะที่ใช่คือสิ่งที่เราควรเลือกทำ
นั่นหมายถึงการปรับแต่งดีไซน์รายตำแหน่งต่อสัปดาห์ ไม่ใช่งานดีไซน์ภาพรวมระดับ 3 เดือนอีกต่อไปแล้ว และทฤษฎีที่ตั้งขึ้นมารองรับก็ไม่ควรเกิดจากการคาดคะเนหรือที่ผู้บริหารถูกใจ พวกเราต้องมาเริ่มนั่งดูข้อมูล Analytics ที่เก็บมากันให้เป็น หรือไม่ก็ฟังจากเสียงลูกค้าหรือจากหลายๆ ทีมที่รับฟีดแบ็คจากลูกค้า แล้วจึงมาประมวลหาวิธีที่น่าจะดีกว่าที่เราเคยทำ — Co-creation จะเป็นคำตอบของปีนี้ครับ
พอกลับมาคิดถึงมุมนี้ก็เลยคิดว่าที่ฝรั่งเรียกกันว่า UX Design นั้นก็น่าจะมีส่วนถูก คนไทยเราอาจต้องเปลี่ยนคำแปลของ Designers ตามพจนานุกรมที่เราแปลว่า นักออกแบบ เป็นคำว่า นักปรับแต่งแทน ก็จะเห็นภาพตรงกัน เพราะคำว่า Design นั้นหมายถึงการแก้ปัญหาสิ่งที่ยังไม่ดีให้ดีขึ้น ไม่ได้หมายถึงการทำงานให้สวยเพียงอย่างเดียว
การเป็น Designers เราจึงควรถูกเรียกว่าเป็นนักแก้ปัญหา แต่หากเรามีความเข้าใจผิดมาตลอดก็ไม่น่าแปลกใจที่เราจะทุ่มเวลาส่วนใหญ่ให้กับการ “ทำให้สวย” แล้วเรียกมันว่าเรากำลังดีไซน์เว็บอยู่ แล้วก็ทำฟีเจอร์หรือเปลี่ยนเลย์เอาท์เต็มไปหมดเลยเพื่อตอบสนองแค่ประสบการณ์ที่ดีของเราที่นั่งประชุมกันเองอยู่เหมือนเดิมแต่ไม่เคยได้ตอบสนองประสบการณ์ของคนที่จะเป็นลูกค้าของเราจริงๆ เลย
ชัดเจนว่าความต้องการแก้ Design ของเรานั้น ต้องทำเพื่อคนที่จะมาใช้ไม่ใช่เพื่อตัวเรา
May the Consumers be with you.
ขอผู้บริโภคจงอยู่กับท่าน :P