หลักการ 4 ข้อที่ทำให้เราควรสรุปว่า UX กับ UI ควรเป็นแค่ “คนละอาชีพกัน”

แม้รู้ว่าการถกเถียงนี้สุดท้ายก็ไปจบแค่ว่ามันคืออะไรกันแน่เท่านั้นเอง หามีแก่นสารใดๆ เอาไปใช้ประโยชน์ได้เลยไม่

แต่ก็รู้สึกว่าการจดความคิดที่ประมวลไว้ได้ตอนนี้เสียหน่อยก็น่าจะคุ้มค่าและน่าจะดีครับ เผื่อไว้ว่าถ้าวันหนึ่งเปลี่ยนความคิดไปแล้วและเมื่อย้อนกลับมาดู จะเช็คได้ว่าตอนนี้คิดอะไรผิดไปบ้าง

แต่ ณ วันนี้ยังคงเชื่อเหมือนเดิม ว่า

  1. คนทำ UI มีความรู้เรื่อง UX จากงานในอดีต
  2. ในทุก UI มี UX แต่ไม่ใช่ทุก UI ให้ Good UX
  3. UX development คือความพยายามค้นหาเฉพาะ Good UX
  4. UX และ UI หากทำได้ควรแยกคนกัน เพราะขนาดงาน

1. คนทำ UI มีความรู้เรื่อง UX จากงานในอดีต

ตั้งแต่ลูกค้าบรีฟงานให้เราจนถึงตอนเทสต์ จนถึงส่งมอบ จนถึงแก้หลังส่งมอบไปแล้ว ฯลฯ ทุกอย่างล้วนเป็นข้อมูลในเชิง UX ไม่ต่างจากการทำ Usability Testing หรือ A/B Testing ดังนั้น คนทำงานมามากๆ จะมีความรู้เรื่อง UX เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยอัตโนมัติ

แล้วถ้าเป็นอย่างนั้น ทำไมเราจะเรียกตัวเองเป็น UX/UI designer ไม่ได้ล่ะ? นั่นสินะครับ

สมมติว่าเรารับงานออกแบบซองขนมขบเคี้ยวให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่เจ้าหนึ่งอยู่เป็นประจำ เราจะรู้ทันทีว่าสเปคที่ลูกค้าใช้และชอบมักจะไปทางไหน (เพราะเราเคยส่งงานอันที่ลูกค้าไม่ชอบให้หลายครั้งแล้วเหมือนกัน) โอกาสทำงานได้ถูกใจลูกค้าเจ้านี้รวมทั้งใช้เวลาในการพัฒนารูปทรงสีสันจะค่อยๆ น้อยลงตามจำนวนงานที่ทำ

ในอนาคตหากเรารับงานซองขนมขบเคี้ยวให้กับบริษัทอีกแห่ง เราจะพบว่าเราเดาใจลูกค้าเจ้านี้จากประสบการณ์ในการทำงานก่อนหน้านี้ได้ แต่หากเราเปลี่ยนไปรับงานดีไซน์โปสเตอร์ให้กับโรงละครแทน เราจะรู้เองทันทีว่าประสบการณ์ในการทำงานกับซองขนมขบเคี้ยวนั้นมีประโยชน์น้อยมากหรืออาจไม่มีประโยชน์เลย

ผมพยายามจะสื่อให้เห็นภาพว่าคนทำ UI ทุกคนล้วนรู้ UX จากงานที่ทำ แต่ไม่อาจเรียกได้ว่ารู้ครอบจักรวาล การติดฉลากว่าเราทำงาน UX ด้วยทั้งๆ ที่งานหลักของเราคือ UI จึงเป็นการพูดถึงสิ่งที่เรายังไม่รู้ หรือไม่ได้ทำรวมไปด้วย ซึ่งไม่น่าจะเป็นการให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ลูกค้าของเรา

2. ในทุกๆ UI มี UX แต่ไม่ใช่ ทุก UI ให้ Good UX

ทุก UI นั้นสร้างจากประสบการณ์ของใครสักคนเสมอ เป็นได้ทั้งประสบการณ์ของลูกค้า ของผู้ใช้ ไปจนถึงประสบการณ์ของ UI Designers… ปัญหาคือ UX ทั้งหลายที่เกิดจาก UI ถุงขนมทุกๆ ตัวข้างต้นนั่นเรียกเป็น UX จริงๆ หรือ?

จากตรงนี้ผมจำเป็นจะต้องตกลงกับผู้อ่านก่อนครับว่าเวลาเราพูดถึงคำว่า UX ขึ้นมาลอยๆ ทั้งในสายวิชาชีพ UX และ UI นั้นเป็นปัญหาสำหรับเราทั้งคู่ เพราะฝั่งคนทำ UX จะเข้าใจตรงกันครับว่าการทำ UX (UX Development) นั้นหมายถึงการ “ทำให้ประสบการณ์ผู้ใช้ดีขึ้น” (เพราะไม่มีผู้ว่าจ้างคนใดจะจ้างเรามาพัฒนาให้ประสบการณ์ผู้ใช้แย่ลงแน่นอน) แต่ในถุงขนมข้างต้นนั้นมีทั้งดีไซน์ที่ดีและไม่มีปะปนกัน เมื่อเป็นเช่นนั้น จากเรื่องข้างต้น เรากำลังพูดถึงงาน UI ที่มีทั้ง Good UX และ Bad UX ไปพร้อมๆ กัน ส่วนคนทำ UX พยายามพูดถึงเฉพาะ Good UX เท่านั้น เราจึงเห็นว่าไม่ใช่ทุก UI ที่วาดออกมาจะให้ UX (ซึ่งหมายถึงเฉพาะ Good UX) ได้ ปัญหาคำว่า UI = UX ที่มีปัญหากันอยู่ทุกวันนี้ก็เกิดมาจากเรื่องนี้ เพราะเรานิยามความหมายไม่ตรงกันระหว่างคนทำ UX และคนทำ UI

เพราะการที่เราได้เรียนรู้ว่างานที่เคยส่งไปแล้วไม่สวยนั่นคือ Bad UX ในสายตาลูกค้าซึ่งโดยมากเราจะเลี่ยงไม่ทำอีกในงานถัดมา คงเหลือแต่ความพยายามในการใช้เทคนิคส่วนที่เราเคยทำแล้วลูกค้าพอใจ กระบวนการคัดแยกดีไซน์ถุงขนมที่ไม่ผ่านออกไป คือตัวอย่างที่ผมใช้สรุปว่าในดีไซน์ถุงขนมทุกชิ้นมี UX ก็จริงแต่ไม่ใช่ Good UX ตามนิยามของการทำ UX เสมอไป

3. UX Development คือความพยายามค้นหาเฉพาะ Good UX

จากตัวอย่างข้างต้นผม จึงสรุปเป็นข้อต่อมาว่าการเจอประสบการณ์ผู้ใช้อันที่แม่นยำที่สุดหรือ Good UX ในครั้งแรกที่ออกแบบเป็นเรื่องที่แทบเกิดขึ้นไม่ได้ในชีวิตจริง กรณีเดียวที่ผมพอยอมรับได้คือเมื่อเราทำของนั้นขึ้นเพื่อใช้ของเราเอง เพราะเราคือประสบการณ์เดียวที่ต้องวิจัยแล้วเราก็เป็นคนออกแบบ UI สนองประสบการณ์นั้นเองด้วย (แต่ถึงเราเป็นคนออกแบบเองจริงๆ บางทีเราก็ยังไม่ค่อยชอบมันเลยก็ยังมีนะ)

เพราะเหตุผลข้อนี้ผมจึงรู้สึกขัดๆ เวลาเรียกคนทำงาน UX ว่า UX Designer เพราะโดยอาชีพแล้วเขาน่าจะเป็น UX Developer ผู้พยายามนำพางานไปสู่ UX ที่ดีขึ้นทุกวันๆ มากกว่า เพราะประสบการณ์ผู้ใช้ทุกอันล้วนเป็นการพัฒนาต่อยอดจากประสบการณ์ “ของผู้ใช้” ที่มีอยู่ก่อนแล้ว ส่วนคำว่าการออกแบบ UX  หรือ UX Designing นั้นมีอยู่จริงนะครับแต่เป็นแค่งานขณะหนึ่ง ในการ develop ทั้งกระบวนการเท่านั้น

4. คนทำ UX และ UI หากทำได้ควรแยกคนกัน เพราะขนาดงาน

อีกครั้งที่อยากพูดถึงอาชีพ UX/UI Designer ซึ่งโดยมากมักเป็นคนที่ทำ UI เก่งๆ ซึ่งก็ไม่ผิดอะไรนะครับ แต่จากข้อ 3 ผมอยากเสนอให้ท่านเรียกตัวเองว่า UX Developer/UI Designer ไปเลยก็จะครบถ้วนกว่าด้วยซ้ำ… แต่ทีนี้ หากเรามานั่งดูขนาดงาน (job description) ของ 2 อาชีพนี้ในคนเดียวกันจริงๆ ตามที่เป็นมาตรฐานฝรั่งเขาเขียนกันเป็นตำรับตำราจนทุกวันนี้ ผมระแวงแค่ว่า คนที่จะใช้ชื่ออาชีพนี้ในการทำงานทุกวันนี้ทำได้ทั้งสองส่วนจริงๆ หรือเปล่าเท่านั้นเอง หรือเปลี่ยนยี่ห้อเพื่อให้ดูหรูหราขึ้นเท่านั้นโดยไม่ได้นึกถึงคนทำอาชีพอีกฝั่งจริงๆ เลย

ผมตั้งคำถามนี้เพราะทั้ง 3 developments ในฝั่ง UX Developers จริงๆ –ตั้งแต่ usability research ถึง engagement development ถึง conversion development จะแค่อันใดอันหนึ่งหรือจะทั้ง 3 เลยก็ตาม– ทุกงานล้วนบริโภคพลังงานและเวลาสูงทั้งนั้น อย่างไรก็ดีผมว่า 2 developments หลังทำได้ง่ายเพราะเครื่องมืออย่าง Web Analytics ช่วยไว้เยอะมากแล้ว แต่งาน usability research นี่ผมนึกไม่ออกเลยว่าขณะพยายามสเก็ตช์ UI ให้ออกมาสวยๆ ให้ได้เยอะๆ ก่อนลงมือจริงนี่จะเอาเวลาที่ไหนไปทำแบบทดสอบแล้วก็ทำแล็บสัมภาษณ์ผู้ใช้ไปด้วย?

ก็ถ้าจะเรียกตัวเองว่า UX/UI Designer ล่ะ?

จริงๆ ผมไม่อยากเถียงไปเถียงมานะ อยากจะใช้ชื่อตำแหน่งว่า UX/UI Designer ต่อไปก็ไม่เป็นไรหรอกครับเพราะมันก็พอเป็นไปได้ถ้าคนทุ่มเทพอ แต่ก็นั่นแหละ พอมองมุมเรื่องเวลาก็นึกไม่ออกว่าจะต้องขยันขนาดไหน แล้วถ้าขยันขนาดนั้น มองเรื่องค่าตัวก็จะยิ่งเห็นว่ามันไม่คุ้มกับราคาที่จ้างกันทุกวันนี้เลย (ผมคิด: ถ้าทำได้ทั้ง UX Development และ UI Design จริงๆ คนนี้ค่าตัวควรเกินแสนบาทต่อเดือนนะครับ) อีกประการคืองานมันไม่ใช่งานหนึ่งหนัก อีกงานหนึ่งเบาอย่างที่เราเข้าใจกัน แต่ทำไมคนถึงพยายามเป็น UX/UI Designer กัน? ใช่! ในบริษัทเล็กๆ เราต้องทำทั้งสองอาชีพได้ในคนเดียว แต่เชื่อผมเถอะครับว่าหากสถานการณ์ไม่ต้องบังคับให้เราทำคนเดียวไม่มีใครอยากทำสองอาชีพนี้พร้อมๆ กันในคนเดียวหรอก ส่วนในบริษัทใหญ่ๆ หากต้องการผลที่เที่ยงตรงขึ้นผมเชื่อว่างานนี้ถ้าไม่เกิดเป็นอีกตำแหน่งหนึ่งในทีมขึ้นมา งานส่วนนี้มักจะอยู่ที่ Product Manager หรือ Head of Product ที่จะต้องเป็นคนลงมือเรื่องเทสต์ในทาง UX development ครับ

ดังนั้น ถ้าเราเป็น UI Designer ที่บังเอิญต้องเป็น Project Manager เองด้วย กรณีนี้เราเป็น UX Dev/UI Designer น่ะถูกต้องเลย แต่ก็นั่นแหละครับ ไม่ค่อยจะเจอสองคนนี้เป็นคนเดียวกันถ้าไม่ใช่บริษัทเล็กๆ ที่ต้องจำกัดเรื่องกำลังคน

 


 

มาถึงตรงนี้ ผมจึงมองการเรียกตัวเองเป็น UX/UI Designers ในเมืองไทยนั้นเหลือแค่ประเด็นเดียวคือเรื่องการพยายามอัพค่าตัวของ UI Designers ด้วยการเปลี่ยนชื่อเท่านั้นเองทั้งที่ปัญหาจริงๆ ของเรื่องนี้คือ UI Designers ในเมืองไทยทุกวันนี้เราเสนอราคากันต่ำเกินไปต่างหากครับ… เพราะไม่มีงานของใครเรียกว่าง่ายได้หากต้องใช้ชั่วโมงฝึกฝนเพื่อให้เก่ง และหากเราเก่งจริง คนอื่นควรให้ราคาที่เหมาะสมกับฝีมือเราครับ

อาชีพหนึ่งก็ควรจะเรตราคาหนึ่ง และสำหรับสองอาชีพที่ควรแยกกันนี้ผู้จ้างควรทราบแก่ใจอยู่แล้วว่าถ้าต้องการเนื้องานจริงๆ เขาต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญทั้งสองอาชีพ แต่พอตอนนี้เรามีอาชีพสไตล์รับเหมา UX/UI Designs เกิดขึ้นแล้วทำทั้งสองอย่างได้ในราคาถูกลงครึ่งหนึ่ง ลูกค้าทำไมจะไม่เอา?

ปัญหาที่จะเกิดต่อไปคือต่อไป

  • อาชีพ UX Developer จริงๆ จะไม่มีที่ยืน เพราะ “ราคาแพงเกินไปทำไมต้องจ้างแบบสองคน แบบคนเดียวก็มี”
  • อาชีพ UI Designer ถูกเรียกร้องมากขึ้นแน่ๆ ในอนาคต (รอให้ลูกค้ามี learning curve สักพักก่อนนะครับว่าจริงๆ งาน UX development ต้องทำอะไรบ้าง)

 

ถึงตอนนั้นจะเป็นการที่ UX/UI Designers ทั้งหลายจะพาตัวเองเข้าสู่ความลำบากในอนาคตโดยสมบูรณ์ ด้วยการแก้ปัญหาง่ายๆ แต่ผิดวิธีกันอยู่ในวันนี้นั่นเองครับ